วัฒนธรรม LIVEHOUSE ที่ช่วยรันให้ดนตรีแข็งแรงขึ้น

ต้องขอบคุณ Shinjuku Loft ร้านในตำนานที่กล้าบุกเบิกวัฒนธรรม Livehouse ขึ้นมาในญี่ปุ่นตั้งแต่ยุค 70 ที่เปลี่ยนให้ร้านนั่งฟังเพลงธรรมดา ๆ ให้แฟนเพลงเข้าไปยืนอัด ๆ กันเพื่อซึมซับโชว์ของศิลปินได้เต็มที่

การไป Livehouse ก็เติบโตขึ้นตามเวลาจนทำให้ทุกเขตทุกเมืองของญี่ปุ่น มี Livehouse เยอะมากไว้รองรับทั้งวงหน้าใหม่หน้าเก่าหรือวงต่างประเทศ แถมด้วยราคาตั๋วที่ถูก ทำให้คนญี่ปุ่นไปดูคอนเสิร์ตไปดูคอนเสิร์ตได้ทุกวัน เมื่อได้ดูโชว์บ่อย ๆ ก็ส่งต่อแรงบันดาลใจให้มีวงดนตรีรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาอีกมากมาย เพราะมีคนดู มีสถานที่โชว์รองรับ วัฒนธรรม Livehouse ของคนญี่ปุ่นจึงแข็งแรงมาก

ในไทยเราเอง เชื่อว่าคนชอบไปคอนเสิร์ตทุกคนน่าจะคิดถึง PLAYYARD จะบอกว่าที่นี่คือ Livehouse ยุคแรก ๆ ของกรุงเทพก็ได้ วงหน้าใหม่หรือวงดัง ๆ ที่อยากดังวงเพื่อน ๆ ก็มาโชว์กันทุกสัปดาห์ วงต่างประเทศก็มาเล่นที่นี่ ทำให้ซีนดนตรีไทยยุคนั้นเฟื่องฟูมาก ๆ เหมือนกัน

เมื่อไม่มี PLAYYARD แล้ววงการดนตรีไทยก็ซบเซาลงไปด้วย เพราะศิลปินรุ่นใหม่ไม่มีพื้นที่จะแสดงโชว์ในราคาค่าเช่าที่พวกเขาจับต้องได้ เพราะสถานที่สเกล 300-500 คนแบบนี้ก็มีไม่เยอะ แม้จะยังมี Brownstone, Speaker Box หรือ De Commune ที่เป็นมิตรกับศิลปิน แต่ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์การเดินทางสำหรับแฟนเพลงอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ศิลปินต้องวางแผนดี ๆ

ลิโด้จึงอยากลองปลุกซีนดนตรีไทยขึ้นมาอีกครั้ง ด้วย Livehouse ใจกลางสยาม การเดินทางที่สะดวกมาก และราคาบัตรไม่แพง แถมมีคอนเสิร์ตให้ดูได้ทุกอาทิตย์ โดยที่ส่วนแบ่งจากค่าบัตรส่วนใหญ่ก็เข้าศิลปินตรง ๆ เลย

ประเดิมครั้งแรกวันที่ 12 มกราคม Numcha / Supergoodsband / FORD TRIO
และครั้งที่สอง วันที่ 26 มกราคม YEP MAY YEP / Yooze / Lord Liar Boots

อย่าปล่อยสองปีที่ผ่านมาของศิลปิน ผ่านไปอย่างเปล่าประโยชน์ ไปซัพพอร์ตเขาที่ขอบเวที ร้องเพลงที่เขาเพิ่งปล่อยด้วยกัน มาช่วยลิโด้สร้างวัฒนธรรม LIVEHOUSE ด้วยกันเถอะ🤘

Related Posts