ทำไมคนมีความรักมักทนความเจ็บปวดได้มากขึ้น
มีผลงานวิจัย Scandinavian Journal of Pain ที่รองรับเรื่องนี้อยู่ โดยงานศึกษานี้เลือกคู่รักมา 48 คู่ อายุเฉลี่ย 25 ปีที่คบกันมานานแล้วมากกว่า 3 ปี เพื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของการรับมือระดับความเจ็บปวดของแต่ละคนเมื่อมีคนรักอยู่ด้วย
ในการทดลองจะมีการจัดให้มาอยู่ในห้องเดียวกันและประเมินความเห็นอกเห็นใจของแต่ละฝ่ายที่มีต่อคู่รักของตัวเอง ก่อนจะเข้าการทดสอบที่ทำให้ได้รับความเจ็บปวดจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ออกแบบไว้
ผลปรากฎว่า ผู้ที่เข้าทดสอบสามารถรับมือและอดทนกับความเจ็บปวดนั้นได้ หากคนรักอยู่ต่อหน้าตัวเองด้วยแม้จะไม่ได้สัมผัสเพื่อให้กำลังใจกันก็ตาม แค่อยู่ด้วยใกล้ ๆ กันหรือในสายตาเท่านั้นแต่ผลลัพธ์ก็ช่วยลดความเจ็บปวดได้
แล้วยิ่งถ้ามีการสัมผัสเพื่อให้กำลังใจด้วยการจับมือหรือเป็นคำพูดที่ใส่ใจด้วยแล้ว ยิ่งทำให้คนที่กำลังเผชิญความเจ็บปวดรู้สึกเจ็บน้อยลงมากขึ้นไปอีก เนื่องจากการให้กำลังใจจากคนรักนั้นส่งผลต่อความรู้สึกปลอดภัยและคลื่นสมองที่จะทำให้รู้สึกว่าเจ็บปวดกับสิ่งเร้านั้นลดน้องลง
ผลการศึกษานี้ยังสอดคล้องกับความคิดเห็นจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพสารสนเทศทางการแพทย์และเทคโนโลยี ประเทศออสเตรียด้วย รวมถึงมีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกว่า มีอีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นไปได้เหมือนกันที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดน้อยลงได้ถ้ามีคนรักอยู่ด้วย นั่นเพราะเราโฟกัสไปที่คนรักของเรามากกว่าความเจ็บปวดที่ตัวเองได้รับ
นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาเราไปโรงพยาบาลหรือเข้ารับการรักษา แล้วพอมีคนที่เรารักไปอยู่ข้าง ๆ ด้วยกันถึงช่วยให้เราสบายใจและรู้สึกเจ็บน้อยลงได้ และมากกว่าทางร่างกาย เราก็มองเห็นว่าการมีคนรักอยู่ด้วยและสนับสนุนทางอารมณ์ให้กับเราก็สามารถช่วยลดความเจ็บปวดทางใจได้ในเวลาที่เราต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดันและความเจ็บปวดจากสังคมได้เหมือนกัน