ถึงเวลาที่ ‘ทางม้าลาย’ ควรปลอดภัยได้รึยัง?
จากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์บนทางม้าลายที่ทำให้เกิดการสูญเสียจนทำให้สังคมเรียกร้องการปรับปรุงทางเดินเท้าข้ามถนนในประเทศ พร้อมกับย้ำเตือนจิตสำนึกของคนใช้รถทุกชนิดให้เห็นความสำคัญของทางม้าลายและหยุดรถเพื่อให้คนข้าม
เรื่องนี้ยิ่งย้ำว่าบ้านเรายังห่างไกลกับหลายประเทศที่มีความแข็งแรงเรื่องกฎหมายทางข้าม ทั้งที่นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุข้ามทางม้าลายเคสแรกที่เกิดขึ้น เพราะประเทศไทยมีคนที่สูญเสียแบบนี้เกิดขึ้นซ้ำมาแล้วซ้ำ ๆ
ยิ่งจากรายงาน Global Status Report on Road Safety ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2018 ประเทศไทยขึ้นเป็นประเทศที่มีคนเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียที่พบว่าคนเดินเท้าบนถนนมีโอกาสได้รับอุบัติเหตุสูงถึง 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 34% และกรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดที่สูงที่สุดที่มีคนเดินเท้าเสียชีวิตเฉลี่ยถึงปีละ 250 คน
เราเลยมองโมเดลตัวอย่างของกฎหมายการจราจรและทางข้ามในประเทศอื่น อย่างประเทศอังกฤษที่เป็นประเทศที่ติดอันดับการจราจรปลอดภัยที่สุดในโลกและเป็นประเทศแรกที่มีทางม้าลาย ที่ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นที่เป็นเหตุผลในการสร้างก็จากความต้องการที่จะลดการเกิดอุบัติเหตุชนคนบนท้องถนนในช่วงที่คนเริ่มใช้รถยนต์ส่วนตัวกันเยอะมากขึ้นในช่วงนั้น
ซึ่งเริ่มจากการทดลองสร้างทางเดินข้ามถนนด้วยลวดลายต่าง ๆ มานานตั้งแต่ช่วงปี 1940 แทนเสาบอกทางเดินข้ามที่คนขับขี่ก็ยังไม่ค่อยสังเกตเห็น จนสุดท้ายก็ได้ออกมาเป็น ทางม้าลายหรือ Zebra crossing ด้วยเพราะมันสังเกตได้ชัดที่สุดในปี 1951
แม้จะลดอุบัติลงได้แต่ก็ยังมีเคสที่ต้องบาดเจ็บและสูญเสียบนทางข้ามอยู่ ทำให้ในปี 1969 มีการวางระบบสัญญาณไฟข้ามถนน และปี 1971 กระทรวงคมนาคมของอังกฤษได้ตีเส้นจราจรซิกแซ็ก (Zig zag line) ขึ้นก่อนถึงทางม้าลาย เพื่อควบคุมไม่ให้คนขับขี่นำรถมาจอดในพื้นที่ที่ตีเส้นไว้จนทำให้บดบังการมองเห็นคนข้ามถนน พร้อมกับสร้างขึ้นทุกที่ที่เป็นแหล่งชุมชนและโรงเรียนโดยใช้เป็นเส้นซิกแซ็กสีเหลือง
สุดท้ายโมเดลจัดทำเส้นจราจรซิกแซ็กก็ถูกนำใช้แพร่หลายในประเทศเครือราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ก็ยังสร้างทางม้าลายที่ใช้ความสร้างสรรค์ทางศิลปะเข้ามาหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นทางม้าลาย 3 มิติ, ทางม้าลายแบบ LED และแบบรูปวาดอื่น ๆ ที่ให้คนขับขี่เห็นทางข้ามชัดมากขึ้นอีก
ส่วนการกำหนดลงโทษตามพ.ร.บ.กฎจราจรทางบกของอังกฤษ หากไม่หยุดรถให้คนเดินเท้าข้ามทางม้าลายก็จะถูกปรับสูงถึง 100 ปอนด์ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4,500 บาท) พร้อมกับแต้มความผิด 3 แต้มซึ่งส่งผลต่อการถือใบขับขี่ จนถึงตอนนี้ในหลายประเทศทางยุโรป แม้แต่เอเชียอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็มีความปลอดภัยสูงให้กับคนเดินข้ามทางม้าลายบนถนน
กลับมาที่บ้านเรา ความเข้มข้นในการบังคับใช้และลงโทษของกฎหมายเกี่ยวกับทางม้าลายซึ่งคือ พระราชบัญญัติจราจรทางบกปี 2522 แม้จะมีการระบุชัดในมาตรา 57 ที่ข้ามผู้ขับขี่จอดรถในระยะ 3 เมตรจากทางข้าม กับมาตรา 70 ที่ต้องชะลอความเร็วของรถทุกครั้งเมื่อถึงทางข้าม และมาตรา 105 ที่ควบคุมการข้ามบนถนนกับสัญญาณไฟให้ข้าม
แต่เราก็ยังเห็นช่องโหว่ว่าไม่ใช่ทุกทางข้ามที่เป็นทางม้าลายจะมีสัญญาณไฟให้รถที่ขับขี่อยู่มองเห็น สุดท้ายก็วนกลับมาที่เรื่องของการสร้างระบบทางข้ามที่ไม่ครอบคลุมกับจิตสำนึกของผู้ขับขี่กับกฎจราจรเรื่องทางข้ามอยู่ดี
ซึ่งการเห็นคุณค่าและความสำคัญของเครื่องหมายจราจรเป็นสิทธิพื้นฐานที่เราควรจะได้เป็นความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต เราหวังว่าจะได้เห็นการเคลื่อนไหวในการปรับปรุงสัญญาณไฟและทางเดินเท้าในบ้านเรา ไปพร้อมกับจิตสำนึกและความรับผิดชอบของคนขับขี่ที่จะปฏิบัติตามกฎหมายจราจรและให้ความสำคัญกับทางม้าลายมากขึ้น
สุดท้ายเราขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและครอบครัว และขอย้ำว่าทุกคนมีสิทธิที่จะข้ามทางม้าลาย เดินทางเท้าบนถนนเพื่อใช้ชีวิตประจำวันและกลับบ้านอย่างปลอดภัย
อ้างอิง
https://bit.ly/3AsQyMp
https://bit.ly/3FWls0E
https://bit.ly/3580lfe
https://bit.ly/3nRAcIg
https://bit.ly/3nUyvJU
https://bit.ly/3ApF3oW