เสพข่าวร้อนยังไง ไม่ให้ทำร้ายคนในข่าว

เสพข่าวร้อนยังไง ไม่ให้ทำร้ายคนในข่าว กรณีศึกษาจากประเด็นการหายตัวไปจากอุบัติเหตุบนเรือล่องแม่น้ำนักแสดงสาว
 
หลายครั้งเวลาที่เราเสพข่าวและให้ความสนใจโดยพุ่งประเด็นหรือตั้งข้อสงสัยกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะด้วยความเป็นห่วงเหยื่อหรือจากความอยากรู้ของเราก็ตาม เชื่อมั้ยว่ามันสามารถเป็นอาวุธที่คนอีกกลุ่มคนนำไปใช้จนทำร้ายเหยื่อได้
 
เราแค่อยากติดตามข่าว ทำไมการเสพข่าวของเราถึงทำร้ายคนในข่าวได้
1) ทุกประเด็นที่เราสนใจจะเป็นตัวตั้งต้นที่ทำให้สื่ออยากขุดคุ้ยและเอาไปเขียนข่าว ซึ่งถ้าเป็นชุดข้อมูลที่เป็นการรายงานตามจริง (Fact) และลำดับเหตุการณ์ (Timeline) ก็ถือเป็นข้อมูลรายงานเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่ในการทำงานของสื่อหลายครั้งก็มักเลือกใช้ประเด็นอื่นนำเสนอด้วย ซึ่งประเด็นเหล่าส่วนหนึ่งก็มาจากพวกเราเองที่อยากรู้เพิ่มเติมยิ่งเราอยากรู้ ยิ่งขุดหา ยิ่งทำให้สื่อและนักข่าวเลือกที่จะหาข้อมูลซึ่งมักจะนำไปสู่การสัมภาษณ์ด้วยคำถามที่ไม่คำนึงความอ่อนไหวของเหยื่อและครอบครัว
2) ทุกประเด็นที่เราอยากรู้และตั้งข้อสงสัย ข้อสังเกต มักจะนำไปสู่การคาดเดาเหตุการณ์ของเหยื่อ การสร้างข่าวปลอมหรือว่าเฟคนิวส์ (Fake news) และที่แย่ที่สุดคือการตีตราและตำหนิเหยื่อได้
3) การเสพข่าวและให้ความสนใจของเราเป็นช่องทางในหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มซึ่งอาจทำร้ายเหยื่อและครอบครัวทางอ้อมได้ ตัวอย่างเช่น การที่หมอดูหลายสำนักใช้สถานการณ์เพื่อดูดวงให้เหยื่อ หรือมิจฉาชีพทำงานสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่ขอรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือเหยื่อ เป็นต้น
4) นอกเหนือจากสถานการณ์ที่เกิดกับเหยื่อ หลายครั้งเหยื่อมักถูกสื่อและผู้คนขุดคุ้ยความสัมพันธ์ รสนิยม ศาสนา ความเชื่อ และการเมือง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นข้อมูลส่วนตัวที่เหยื่อควรได้รับการปกป้อง
 
ทั้งหมดนี้เป็นกรณีศึกษาที่ล้วนเกิดขึ้นจริงและทำร้ายคนในข่าวเสมอ มันสร้างความเจ็บปวดให้กับเหยื่อ ครอบครัว และเพื่อน การค่อย ๆ หยุดวงจรนี้เราสามารถทำได้ โดยเริ่มจากเราต้องรู้จักการตัอสินใจที่จะเลือกรับข้อมูลข่าว การพิจารณารับข้อมูลข่าว ไม่ควรอ่านแค่หัวข้อหัวข่าวหรือเกริ่นเท่านั้นเพราะนั่นอาจทำให้เราตีความข้อมูลคลาดเคลื่อนได้
 
ซึ่งพอเราส่งต่อข้อมูลและแชร์ออกไปก็ยิ่งเป็นการสร้างวงจรข้อมูลข่าวที่ผิดและอาจส่งผลกับทั้งความรู้สึกของเหยื่อ ครอบครัว และเพื่อนของเหยื่อ รวมถึงรูปคดีด้วย ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการเลือกรับข่าวจากแหล่งสื่อที่น่าเชื่อถือ สำนักข่าวที่มีจรรยาบรรณ และควรดูข้อมูลเปรียบเทียบกันหลาย ๆ สื่อด้วย ระมัดระวังบางสื่อที่มีแนวโน้มสร้างข่าวจาก 4 ที่เราพูดถึงไป
 
และอีกข้อควรระวังที่มักเกิดขึ้นก็คือการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย เราจะต้องไม่คาดเดาสถานการณ์ ตำหนิเหยื่อ หรือแม้แต่การเสนอแนวทางด้วยความเป็นห่วงก็ตาม เราต้องระลึกเสมอว่าการให้ข้อมูลของเราก็มาจากความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะคาดเคลื่อนหรือผิดไปจากในมุมของผู้เชี่ยวชาญ เรื่องเหล่านี้ก็อาจนำไปสู่การเข้าใจข้อมูลที่ผิดและเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพ
 
ขอให้เราเสพข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้และระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือที่ทำร้ายคนในข่าว สุดท้ายนี้ขอให้สถานการณ์คลี่คลายและปลอดภัยนะ

Related Posts