สมาชิก
เข้ม ธนช เหลาหา กีตาร์, ร้องนำ
แฮม ธีรภัทร์ นาคสว่างพร กีตาร์
โจ๊ก ภิวัฒน์ จิตตมาศ เบส
การ์ฟิล วรัท รอดเพชรไพร กลอง
: เล่าย้อนจุดเริ่มต้นของ Freehand
เข้ม – เราเรียนที่คณะสถาปัตย์ลาดกระบังด้วยกันทั้งหมด 4 คน เริ่มจากที่ผมมีเพลงที่เขียนไว้อยู่ แล้วอยากชวนเพื่อนๆมาทำวงด้วยกัน จึงไปได้ตัวโจ๊กมือเบสมา แล้วตามด้วยการ์ฟิลมือกลอง หลังจากที่เราเรียนจบมหาลัย ก็เริ่มมีงานโชว์ รู้สึกว่าการเล่นสามคนเริ่มไม่เติมเต็มซาวด์ที่เราจินตนาการไว้ จึงได้ชวนแฮมมือกีต้าร์มาร่วมวงด้วย
: ทำไมถึงใช้ชื่อว่า Freehand
โจ๊ก – จริง ๆ ตอนที่เราเรียน มันจะต้องวาดรูป แบบสเกตงานดีไซน์ต่าง ๆ และคำว่าฟรีแฮนด์ มันคือเทคนิคนึงในการสร้างสรรค์งานออกมา อย่างง่ายที่สุด และรวดเร็วที่สุด นำเอาความคิด จินตนาการในหัว ออกมาผ่านเพียงแค่ดินสอ ลงบนกระดาษ เรารู้สึกว่ามันเป็นการสื่อสารที่ง่าย อาจจะไม่เนี๊ยบเหมือนการใช้เครื่องมือมากมาย แต่ในช่วงเวลานั้น มันก็เอาสิ่งที่อยู่ในหัวนำเสนอได้อย่างเข้าใจและตรงไปตรงมา ก็คล้าย ๆ กับเพลงของเรา ที่อยากให้มันสื่อสารถึงผู้ฟังได้ง่าย
: ถึงตอนนี้คิดว่าอะไรคือตัวตนของ Freehand
การ์ฟิล – ฟรีแฮนด์ จริง ๆ ถ้าเปรียบเป็นคนคนนึง ก็เหมือนคนธรรมดา ที่ถ้าเป็นนักเรียนก็คงนั่งอยู่กลาง ๆ ห้อง เพื่อนไปไหนไปด้วย ไม่ได้โดดเด่นหวือวา แต่น่าจะเป็นคนธรรมดา ที่เมื่อใครเข้าหาเรา จะได้รับความจริงใจและความสบายใจจากเราไปจริง ๆ เป็นเหมือนเพื่อนคนนึงที่พร้อมจะนั่งอยู่ข้าง ๆ แบบสบาย ๆ ได้ โดยที่อาจจะไม่ต้องพูดอะไรเลย
: แต่ละคนนิยามแนวดนตรีของ Freehand ว่าเป็นแนวไหน
เข้ม – เอาจริง ๆ ก็ไม่แน่ใจว่าแนวไหนคนที่ชอบป็อบ บอกว่าเราร็อค คนที่ชอบร็อค บอกว่าเราป็อบ (หัวเราะ) แต่จริง ๆ ไม่อยากจำกัดว่าเราต้องเป็นแนวไหนเท่านั้น อยากทำเพลงให้เพราะก่อน ส่วนมันจะต้องร็อคหรือป็อบเป็นเรื่องรองลงมาครับ
โจ๊ก – เรามองว่าก็เป็น Pop-rock นะ อาจจะหนักไปทาง rock ในบางเพลง แต่จริง ๆ ก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นแนวทางนี้เลย เพราะก็มีหลายเพลงที่ผสมโฟลคหรือกลิ่นของความเป็นบรรยากาศพื้นบ้านบ้าง
การ์ฟิล – ขอนิยามใหม่ว่า สปะละกะเห่ครับ
แฮม – คิดว่าพื้นฐานเป็นร็อคและมีการผสมผสานความเป็นพื้นบ้าน โฟล์ค อยู่ครับ
: แล้วมองวงการเพลงร็อคในบ้านเราตอนนี้ว่าเป็นยังไง
เข้ม – ผมมองว่ามันหลากหลายขึ้นนะครับ ตอนนี้ทุกคนมีทางเลือกว่าอยากฟังร็อคแบบไหน ไม่ได้มีกระแสหลักเหมือนสมัยก่อนที่เวลาพูดถึงเพลงร็อค เราอาจจะนึกถึงค่ายไม่กี่ค่าย วงไม่กี่วง
โจ๊ก – มันกำลังจะกลับมาครับ
การ์ฟิล – ดนตรีมันเชื่อมถึงกันแล้วครับในความเป็นร็อคยังมีเอกลัษณ์ของแต่ละวงที่หลากหลายให้เลือกฟังครับ
แฮม – รู้สึกว่าเริ่มมีการสอดแทรกแนวเพลงร็อคในแนวเพลงอื่น ๆ มากขึ้นครับ เป็นการผสมผสานที่แปลกใหม่ดีครับ
: คิดว่าอะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เด็กรุ่นใหม่ฟังเพลงร็อคน้อยลงหรือเพลงร็อคกลายเป็นของคนเฉพาะกลุ่ม
เข้ม – ถ้านิยามว่าเพลงร็อคมันคือเพลงที่กีต้าร์เสียงแตก มันก็อาจจะใช่ แต่เพลงร็อคสำหรับผมมันคือเพลงที่จริงใจ สื่อสารแบบกระทบใจคน ซึ่งเพลงแบบนี้ก็ยังมีให้ฟังกันเรื่อย ๆ ฉะนั้น เพลงร็อคยังอยู่ แค่ซาวด์มันเปลี่ยนไปตามยุค
แฮม – คิดว่าการฟังเพลงจะเป็นไปตามยุคสมัย ด้วยสภาพแวดล้อม สภาพสังคม ในช่วงเวลานั้น ๆ แต่แนวเพลงต่าง ๆ จะไม่มีวันหายไปอย่างแน่นอน
: มาถึงคอนเซ็ปต์อัลบั้ม ท้องฟ้าจำลอง
เข้ม – ท้องฟ้าจำลอง เป็นอัลบั้มเต็มชุดแรกของ Freehand อัลบั้มที่เป็นเหมือนเครื่องบันทึกช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของ Freehand หากอัลบั้ม EP. ที่ปล่อยไปเมื่อ 7 ปีก่อน ที่มีเพลงอย่าง ควันบุหรี่ เป็น Highlight บอกเล่าเรื่องราวของความผิดหวัง ความรัก ความโดดเดี่ยว
ท้องฟ้าจําลอง ก็เหมือนเป็นการเดินทางของคน ๆ เดิมที่เคยเสียใจ ฟูมฟาย คิดถึงและโดดเดี่ยว การเดินทางครั้งนี้ก็ยังโดดเดี่ยวเหมือนเดิม : ) แต่รู้แล้วว่าการโดดเดี่ยวเป็นเรื่องปกติ และความอ่อนแอไม่ใช่เรื่องน่าอาย คนๆนี้ และความคิดถึงเก่ง ก็เป็นความสามารถพิเศษอย่างหนึ่ง
ส่วนเนื้อหาของเพลงที่เล่าเรื่องตั้งแต่การรอคนรักที่ประตูบ้าน ไปจนถึงการพาคนรักหนีออกไปนอกอวกาศ คือนิยามของอัลบั้มท้องฟ้าจําลองครับ
: ซิงเกิลล่าสุด กอด
เข้ม – อยากมีสักเพลงที่จะแสดงความอ่อนแอออกมาได้ บางทีเราติดภาพว่าจะต้องเป็นคนที่เข้มแข็ง แต่บางทีการบอกใครซักคนว่า วันนี้เราไม่โอเคเลย กอดหน่อย มันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก
: นอกจาก กอด แล้ว ขอ Track Recommended ในอัลบั้มท้องฟ้าจำลองของแต่ละคนหน่อย
เข้ม – ประตูครับ จำได้ว่าตอนทำเพลงนี้สนุกมาก เพลงมีความโบ๊ะบ๊ะ มีจังหวะ
โจ๊ก – ดอกไม้ของดาวหางครับ ชอบเรื่องราวในบทเพลงนี้มากๆ มันเป็นเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่จริงๆ อยากให้ทุกคนได้ลองฟัง
การ์ฟิล – ผมชอบเพลงมนุษย์ต่างดาวครับตรงกับความรู้สึก
แฮม – แบกครับ ตอนที่เรารู้สึกแย่ๆกับชีวิต พอฟังเพลงนี้แล้วทำให้รู้ว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวครับ
: หลังจากนี้เราจะได้ฟังซิงเกิลต่อไปของ Freehand เมื่อไหร่
แฮม – คาดว่าเป็นช่วง มิ.ย. ถึง ก.ค. นี้ครับ
: ในมุมมองของ Freehand คิดว่าการสร้างวัฒนธรรม Livehouse จะช่วยศิลปิน และเสริมซีนดนตรีในบ้านเรายังไง
การ์ฟิล – ถ้าไลฟ์เฮ้าส์ไม่ผูกกับร้านเหล้า ร้านอาหารจะทำให้น้อง ๆ อายุไม่ถึง 18 ปี มาดูพวกเราไม่ได้จากประสบการณ์ตรงที่น้องคนหนึ่งทักมาในเพจว่าถ้าหนูอายุถึงจะมาดูพวกพี่
โจ๊ก – เราว่าดีมาก ๆ เลย เพราะด้วยยุคสมัยและการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างยากแล้วในปัจจุบัน การมี Livehouse และสร้างวัฒนธรรมนี้ น่าจะช่วยส่งเสริมและเยียวยาจิตใจทั้งผู้ฟังและผู้เล่นได้ดีเลยครับ
: รอบนี้ Freehand เตรียมโชว์พิเศษใน BudLivehouse
การ์ฟิล – เพลงใหม่ในอัลบัมที่เพิ่งปล่อยเรายกให้ฟังกันเกือบหมด
: สุดท้าย
การ์ฟิล – พวกเราเต็มที่สุดพลังแน่นอนครับ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
(1) Lido Connect – ลิโด้แนะนำ อัลบั้มท้องฟ้าจำลองของ FREEHAND… | Facebook