ทำไม Livehouse เป็นทางเลือกที่ดีในการดูดนตรี ที่ยังขาดแคลนในบ้านเราอยู่
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดนตรีในบ้านเราอยู่ได้ เติบโตขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้จัด ค่าย และตัวศิลปินที่ผลักดันผลงานของตัวเองสู่คนฟังทั้งในประเทศและต่างประเทศ เราเห็นสิ่งนี้มานานมากแล้วว่ามันคือการยืนด้วยขาของตัวเอง
ในขณะที่วงการดนตรี ศิลปะได้รับการสนันสนุนจากรัฐน้อยมาก ๆ ยิ่งกับภาพธุรกิจดนตรีขนาดเล็กที่แทบไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเลย ซ้ำยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลากว่าจะสามารถขออนุญาตจัดงานหรือใช้พื้นที่ได้
ในมุมของผู้ผลิตเองไม่ว่าจะเป็นศิลปินหรือค่ายก็มีความพยายามในการที่ผลักตัวเองให้มีรายได้ อยู่รอด ซึ่งกำลังที่ทำได้ก็ต่างกันตามขนาดของบริษัท จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่การส่งเพลงเข้าตลาดอยากที่จะทำเพื่อให้เกิดรายได้ให้ได้มากที่สุด
การทำเพลงเพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดได้ตามที่คนในบ้านพร้อมทาน ย่อยง่าย เพลิดเพลิน ก็ไม่แปลกที่ในแง่ความหลากหลายทางดนตรีจะถูกจำกัดลงจนมีวนเวียนอยู่จำนวนหนึ่ง ตามความต้องการที่จะให้ถึงหูคนฟังแล้วทุกคนพร้อมรับด้วยความคุ้นชิน มากกว่าจะแบ่งเวลามาใช้เพื่อลองชิมดนตรีแบบใหม่ที่ต้องใช้เวลาเสพหรือเวลาทำความรู้จัก เพราะมันแตกต่างไปจากเดิมที่ตัวเองเคยฟัง
ทำให้ตอนนี้ความหลากหลายและสไตล์ดนตรีที่ผลิตออกมาเพื่อให้ตอบรับความต้องการคนฟังเลยคลอดออกมาพร้อมกับฟังก์ชันที่ทุกคนจะสามารถฟังแล้วร้องตามได้ ตีความง่าย เข้าติ๊กต็อกได้ ไปอยู่ตามร้าน ผับ บาร์ทุกคนก็พร้อมจะเอ็นจอยกับเพลงได้ทันที มันก็ส่งผลให้เกิดวงจรแบบนี้ซ้ำเรื่อย ๆ
สิ่งนี้ส่งผลอย่างไรกับฝั่งผู้ผลิตและศิลปิน ผู้ผลิตเองก็จะต้องพยายามทำเพลง ผลงานที่ขายได้ออกมา ศิลปินก็ต้องเลือกหยิบจับผลงานของตัวเองที่ทุกคนพร้อมรับฟังออกมา ไม่แปลกเลยที่การเสิร์ฟเพลงถึงหูคนฟังก็จะวนเวียนซ้ำเดิมเพื่อตอบสนองความต้องการของคนฟังส่วนใหญ่เหมือนเดิม
ในขณะที่การจ้างงานของเจ้าของพื้นที่ ผู้จัดเองก็ต้องเน้นมองหาและเลือกศิลปินที่มีผลงานที่จะสามารถดึงดูดลูกค้าให้มาร้านได้จากการมีฐานคนฟัง มีความน่าเชื่อมากพอว่าในการจ้างแต่ละครั้งจะสามารถดึงคนมาจำนวนตามเป้าที่ตั้งไว้ ขายเครื่องดื่มและอาหารได้จนได้กำไร
ทั้งหมดทำให้การฟังเพลง เสพดนตรีจากฝั่งของผู้บริโภคเกิดการหมุนเวียนแบบเดิมดนตรีที่เกิดขึ้นจากงานโชว์ก็จะถูกเข้าถึงจากคนที่อายุ 20 ปีขึ้นไปก่อน ในขณะกลุ่มคนฟังที่อายุน้อยกว่าที่ยังไม่สามารถเข้าสถานบันเทิงได้ก็จะต้องฟังจากออนไลน์ สตรีมมิ่ง และรอฟังตามคอนเสิร์ตหรือเฟสติวัลดนตรีเท่านั้น
ซึ่งการเกิดขึ้นของศิลปินสร้างผลงานนอกเหนือจากความต้องการหลักของตลาดผู้บริโภคเลยมีพื้นที่รองรับจำกัด แม้เราจะเห็นว่าตอนนี้ช่องทางออนไลน์เป็นที่นิยมที่จะใช้ประโยชน์พอสมควร แต่การสร้างฐานแฟนคลับที่แข็งแรงก็ยังคงต้องพึ่งการโชว์ดนตรีสดด้วย ซึ่งมันก็จะเกิดขึ้นจากการผลักดันของกลุ่มในวงการขนาดเล็กด้วยกันก่อนที่จะเติบโตขึ้นจนสามารถผลักดันตัวเองสู่ตลาดหลักได้จนทำให้คนฟังได้รับรสชาติแนวดนตรีใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากเดิมมากขึ้น
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ไลฟ์เฮาส์ (Livehouse) สามารถเข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้ได้ที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่ให้ฝั่งศิลปิน เพิ่มรสชาติของแนวดนตรี ความหลากหลายให้คนฟังได้ชิมสิ่งใหม่เรื่อย ๆ ก่อนสร้างความคุ้นเคย การเปิดรับ และถูกป้อนเข้าสู่ตลาดที่กำลังแข็งขันกันอยู่
ในวันที่ทุกคนถามถึงพื้นที่เล่นดนตรีที่มีคุณค่า เราเห็นว่าไลฟ์เฮาส์จะเป็นพื้นที่ทางเลือกในการเสพดนตรีของคนดนตรีทุกคน ทั้งฝั่งศิลปินและคนฟัง การเดินเข้ามาในไลฟ์เฮาส์ของคนฟังจะมาพร้อมความตั้งใจที่อยากจะมาทำความรู้จัก เสพโชว์จากศิลปิน ซึ่งมีการดื่มและบริการอื่น ๆ เป็นเรื่องรองลงมา
ในเมื่อการจัดงานแต่ละครั้งศิลปินเป็นตัวเอกก็ทำให้ศิลปินอยากที่จะสร้างสรรค์ ทำโชว์ในรูปแบบที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องห่วงความคุ้นชินในการรับจากคนฟัง คนฟังได้รับรสชาติใหม่จากโชว์ศิลปิน พลังงานจากคนฟังที่ส่งถึงศิลปินทำให้ศิลปินเองมีความรู้สึกในการสร้างผลงานแบบใหม่ ๆ เพื่อป้อนความหลากหลายเข้าสู่วงการดนตรีด้วย
ในเรื่องขนาดของงาน ไลฟ์เฮาส์ก็สามารถจัดขึ้นได้ตามกำลังของผู้จัด มีความถี่ และใช้งบประมาณที่ค่อนข้างเฟรนด์ลี่มากกว่าการจัดคอนเสิร์ตใหญ่หรือเฟสติวัลที่จะจัดทีจัดใหญ่ จำนวนครั้งน้อยกว่า
ซึ่งมันก็ส่งผลโดยตรงมาก ๆ ต่อวัฒนธรรมการเดินเข้ามาฟังดนตรีที่จะกลายเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้บ่อยขึ้น เช่น หลังเลิกงานหรือเลิกเรียน ก่อนกลับไปพักผ่อนเริ่มวันใหม่ โดยที่ไม่ทำให้คนฟังรู้สึกว่ามันเป็นกิจกรรมใหญ่ที่ต้องใช้เวลา พลังงานมากหรือต้องรอวันหยุดเท่านั้น
นอกจากนี้พอไลฟ์เฮาส์เป็นพื้นที่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการเสพดนตรีของทุกวัย อย่างที่เราพูดไปว่าวัฒนธรรมเรื่องการดื่มหรือบริการอื่น ๆ เป็นเรื่องรอง ความหลากหลายของคนที่เข้ามาฟังจึงสามารถเกิดขึ้นได้ อย่างไม่จำกัดอายุ นักเรียนเข้ามารู้จักแนวดนตรีใหม่ ๆ ได้ เมื่อเด็ก วัยรุ่นสามารถเข้าถึงดนตรีดนตรีได้ง่ายขึ้น และพบเจอกับความหลากหลาย ก็จะสามารถปลุกฝังวัฒนธรรมการฟัง การเล่นดนตรี รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจจากการมาดูโชว์ของศิลปินได้
ในส่วนของฝั่งผลิต ในเมื่อไลฟ์เฮาส์เกิดขึ้น การจ้างงานก็เกิดขึ้น คนทำงานโปรดักชั่นดนตรีก็มีรายได้ เกิดการหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นแบคอัพ สตาฟ ซาวด์เอนจิเนียร์ กราฟิก คอนเทนต์ วิชวลอาร์ต ฯลฯ ทำให้ซีนของอาชีพในวงการดนตรีเข้าสู่สายตาผู้บริโภคด้วยนี่อาจะส่งผลไปถึงเรื่องการผลักดันสวัสดิการของคนทำงานดนตรีต่อไปด้วย
ตอนนี้กำลังมีไลฟ์เฮาส์ค่อย ๆ เติบโตขึ้นในบ้านเราแล้ว เราดีใจมาก แต่มันยังคงกระจุกตัวอยู่ในเมืองกรุงเทพฯ เท่านั้น และมันจะอยู่ได้ส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากวัฒนธรรมการเปิดใจรับฟังดนตรีที่หลากหลายมากขึ้นด้วย ซึ่งมันคงต้องโตไปพร้อมกันระหว่างธรรมชาติของคนฟังที่จะเปลี่ยนไปเพื่อสนับสนุนศิลปินและการอยู่ของไลฟ์เฮาส์
และมันคงดีมากถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย ที่ผ่านมาที่ไลฟ์เฮาส์ในช่วงเริ่มต้นเกิดขึ้นได้แล้วเวลาผ่านต้องจบลงส่วนหนึ่งก็เพราะเจ้าของสถานที่ไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ สิ่งนี้สามารถถูกซัพพอร์ต ช่วยเหลือได้ถ้ารัฐมีวิสัยทัศน์ในด้านดนตรี และศิลปะที่เปิดใจมากพอ
เราคาดหวังว่าไลฟ์เฮาส์ที่เรากำลังตั้งใจทำด้วยกันขึ้นมา จะเป็นแรงสำคัญที่ผลักดัน ศิลปินที่ไม่ว่าจะทำเพลงแบบไหนได้มีพื้นที่โชว์ มีรายได้ให้ตัวเอง ทำเป็นอาชีพหลักได้ มีกำลังใจที่จะทำผลงานสร้างสรรค์ต่อไป และสามารถเป็นทางเลือกที่มีความหลากหลายให้คนเสพดนตรี นี่เป็นเหตุผลที่ในประเทศไทยต้องมี Livehouse !