คุยแล้วชอบหาย ทำไมต่างชาติไม่ใช้คำว่า “คนคุย” เพราะสุดท้ายมันไม่ได้คบรึเปล่า
หลายคนอาจจะชินกับคำว่า คนคุยและการเป็นคนคุยไปแล้ว ในบ้านเรานิยมใช้คำนี้ในช่วงเริ่มความสัมพันธ์กันมาก ซึ่งเราก็พอรู้กันว่ามันหมายความว่าเรากำลังคุย ๆ กันหรืออยู่ดูใจกันอยู่
เรื่องนี้มองได้หลายมิติมาก ถ้าลากยาวไปยันเรื่องผังเมืองก็มีส่วนเกี่ยว ถ้าเราลองมองที่จุดเริ่มต้นของสถานะคนคุยในบริบทนี้ หลายครั้งก็มาจากออนไลน์ (Online dating) ต่าง ๆ ระดับในความสัมพันธ์มันก็เลยเริ่มมาจากการรู้จักกันผ่านการพูดคุยจากแอพฯ
ในขณะที่ต่างประเทศหลายที่ มีผังเมืองและพื้นที่สาธารณะที่เอื้อมากพอที่จะให้ผู้คนได้มาเดินเล่น ทำกิจกรรม พบเจอจนประทับใจกันก่อนที่จะชวนกันไปออกเดทได้ ซึ่งถ้าเดทกันแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ก็จะไม่ได้คุยกันต่อ
จริง ๆ มันก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่บ้างระหว่าง การออกเดทกับสถานะแบบคนคุย ซึ่งการออกเดทมันก็เป็นขั้นตอนของการดูใจ ดูนิสัยเหมือนกัน ถ้าเริ่มชอบก็คุย เดทกัน มีเซ็กส์กันได้ (ซึ่งในขั้นนี้ก็ตกลงกันได้ว่าทั้งคู่จะมุ่งหมายแค่กันและกันหรือสามารถเดทกับคนอื่นไปด้วยได้) สุดท้ายถ้าไม่ใช่ก็ยอมรับแล้วแยกย้ายกันไป กลับกันถ้ารู้สึกรู้ดี อยากชัดเจนก็เลื่อนสถานะเป็นการคบหาดูใจแบบจริงจัง (ที่ไม่ศึกษาคนอื่นไปด้วยแล้ว)
แต่สำหรับสถานะคนคุย (ในบ้านเรา) พอมาดูก็มีหลายขั้น (Stage) มาก อย่างการคุยจนโอเคแล้ว พร้อมที่จะมาเจอกันเพื่อเดทกันในกรณีนี้เราเจอบ่อยกับความสัมพันธ์จากแอพฯ หรืออีกกรณีคนคุยก็เป็นแบบที่เป็นคนคุยแล้วก็จบที่คุย (แบบยังไม่ทันไม่ได้เดท) กันก็มี
สรุปแล้วคำว่าคนคุยในต่างประเทศมันก็คือการเดท ดูใจเลย ซึ่งสุดท้ายก็อาจแยกย้ายกัน แต่เราเข้าใจว่าหลายคนก็บอบช้ำมากจากเป็นคนคุยแล้วไม่ได้คบ ยิ่งกว่าไม่ได้คบคือยังไม่ทันได้เจอกันเลย มันขึ้นอยู่การตกลงกันและระดับที่ผูกมัดกันด้วยแหละ ยังไงถ้าใครมีประสบการณ์แล้วอยากแชร์ ก็แชร์กันเลย เราก็อยากรู้เพิ่มเติมกับเรื่องนี้เหมือนกัน