Aire ท่วงทำนอง INSTRUMENTAL ROCK กับการ RE-UNIONครั้งสุดท้ายในงาน we were here last live

ลิโด้แนะนำ aire ศิลปินที่สร้างสรรค์ดนตรีได้อบอุ่นร้อยเรียงเป็นท่วงทำนอง Instrumental rock กับการ Re-union ใน “We Were Here” Last Live กล่าวคำอำลาครั้งสุดท้ายที่เต็มไปด้วยความทรงจำและโอบกอดคนฟัง

สมาชิก
Reo กีต้าร์
Tatsuo กีต้าร์
Van เบส
Phil คีย์บอร์ด
Ginn กลอง

: หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก aire มาก่อน ขอย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น มารวมตัวกันได้ไงที่ตัดสินใจทำวงนี้ด้วยกัน

Reo – เริ่มจาก Ginn Tatsuo และผมเล่นดนตรีกันก่อน 3 คนทำเพลงไปประมาน 3 เพลงในระยะเวลา 1 เดือน แต่เราก็ยังขาดมือเบสอยู่ Ginn เลยได้ชวน Van กับ Phil มาร่วมวง ซึ่ง 2 คนนี้เคยอยู่วงชื่อ Ghost Story มาก่อน เป็นวงที่ผมชื่นชอบมาตลอดก็ไม่ติดใจอะไรเลย

Tatsu – ตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นผมชอบฟังและเล่นดนตรี พอผมย้ายมาเมืองไทย ก็อยากเล่นดนตรีที่เมืองไทย โชคดีมีโอกาศได้เจอ Ginn กับ Reo ได้คุยกันเรื่องดนตรี และได้ลองเล่นที่ Studio พอได้ลองเล่นด้วยกัน รู้ว่าเข้ากันได้ดี ก็เลยตัดสินใจตั้งวงขึ้นมา และได้ชวน Phil กับ Van มาร่วมวงกัน จึงเกิดมาเป็น aire ขึ้นมา

Phil – เดิมทีผมกับ Van เคยเล่นดนตรีด้วยกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยในซีน punk ภายใต้วงชื่อ Ghost Story แต่เนื่องจากสมาชิกต้องย้ายไปเรียนต่างประเทศเลยจำเป็นต้องแยกทางกัน ในช่วงที่ยังเล่นกันอยู่ก็ได้มาทำความรู้จักกับ Ginn ที่ตอนนั้นตีกลองให้กับวง Cosmoz ซึ่งมีสมาชิกเป็นคนญี่ปุ่นล้วน ส่วน Reo ก็เคยมีวงอยู่

แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้สนิทสนมอะไรมากเพราะทางวงไม่ค่อยได้ออกงานจนท้ายที่สุดก็วงแตก เวลาผ่านไปจนกระทั่งถึงจุดที่ทุกคนไม่ได้มีวงประจำแล้ว Ginn ก็ทักมาใน inbox ว่ากำลังทำวง instrumental rock อยู่ ผมก็เลยชวน Van เข้าไปลองแจมดู ก็ได้เจอกับ Tatsuo ครั้งแรกในห้องซ้อม จึงเป็นที่มาของวง aire

Ginn – เหมือน Dragon Quest ครับ ทยอยหาสมาชิกและขึ้นระดับด้วยกันไปเรื่อย เท่าที่เราจำได้ เราถาม Reo ว่าเราจะทำวงใหม่ เล่นด้วยกันมั้ย ก็เริ่มจาก 2 คนครับ

หลังจากนั้นมีคนรู้จักแนะนำ Tatsuo มาว่ามีคนญี่ปุ่นที่เพิ่งย้ายมาอยู่เมืองไทย เขาชอบเล่นดนตรี จะแนะนำเขาให้ Ginn ได้มั้ย เลยให้ Tatsuo มาโชว์ของวงเก่าของเรา แล้วคุยกันว่าจะลองเข้าห้องซ้อมและแจมกันมั้ย

เล่นกัน 3 คนซักพัก ยังไม่มีมือเบส แต่โชว์ที่ให้เราเล่นเข้ามาเรื่อย หาไปหามาก็ไม่มีคนใช่ วันนึงเรามีโชว์ของอีกวงเป็น acoustic trio Van กับ Phil มาชมโชว์นั้น เราแค่พูดว่าเรามีวงใหม่แบบพูดเปล่า ๆ เพราะว่าเรารู้จัก Van กับ Phil จากวงเก่าของพวกเขาชื่อ Ghost Story แต่ตอนนั้น Van เป็นนักร้อง Phil เป็นมือกีตาร์

เลยไม่นึกว่าสองคนนี้สามารถเล่นเครื่องดนตรีอื่นได้ ตอนคุย Van ก็ตอบว่า “งั้นเล่นเบสให้” Phil ก็ตอบว่า “งั้นเล่นคีย์บอร์ดให้” นี่คือจุดเริ่มเดินทางของ aire ครับ

: aire ชื่อนี้มาจากไหน

Reo – เฉลยเลยว่ามันเป็นภาษาสเปนว่าคำว่า Air ที่มา Ginn เป็นคนเอามาจากหลาย ๆ คำแล้วในนั้นมีคำว่า Aires แต่เราก็คิดว่าเหลือให้เป็น aire น่าจะดีกว่า

Tatsu – aire หมายถึง air ตอนได้ยินคำนี้ครั้งแรก รู้สึกดี จำง่าย ส่วนรายละเอียด ตามที่ Reo อธิบายเลยครับ

Ginn – ที่ Reo บอก aire เป็นภาษาสเปน หมายถึง air ในชีวิตเราขาด air ไม่ได้ เราใส่ความหวังในชื่อนี้ว่าอย่าขาดเราในชีวิตคุณ

: คิดมาก่อนไหมว่าตั้งใจจะทำเพลงของวง aire ในรูปแบบ Instrumental rock

Reo – ไม่เลย ตอนแรกเริ่มมาจากเป็นเพื่อนกันลองเล่นด้วยกัน จะออกมาเป็นยังไงตอนนั้นยังไม่ได้คิดไว้เลย

Tatsu – ตอนแรกที่เล่นด้วยกัน ไม่ได้คิดถึงเรื่องสไตล์ดนตรีเลย ลองเล่นด้วยกันไปเรื่อย ๆ ก็ออกมาแนวนี้ครับ

Van – ตลอดเวลาการทำ Aire พวกเราไม่เคยคุยกันสักครั้งว่าเราจะทำเพลงแบบไหน เราแค่ปล่อยให้อะไรที่มันจะเกิดตอน 5 คนเข้าห้องซ้อมมันเกิดไป

Phil – ต้องที่คุยกับ Ginn แรก ๆ เขาก็เกริ่น ๆ มาแล้วว่าจะทำวง Instrumental rock ซึ่งก็ไม่ได้ติดใจเพราะส่วนตัวก็ชอบแนวนี้อยู่แล้ว อีกทั้งยังอยากลองทำเพลงในรูปแบบนี้มาสักพักแล้วก็เลยตอบตกลงไป

Ginn – ไม่เคยจำกัดแนวของตัวเอง เพลงที่ออกมาจากเราคือ aire แค่ไม่มีคนร้องในวง เราใช้คำ Instrumental rock เพราะว่าง่ายดีเวลาอธิบายเพลงของเรากับคนอื่น

: คิดว่ามันท้าทายแค่ไหนกับกลุ่มคนฟังในบ้านเราที่ยังมีคนฟังแนวนี้น้อยอยู่

Reo – ผมดีใจมากที่มีคนสนับสนุนขนาดนี้ แต่ไม่เคยคิดว่ามันท้าทายเลย เพราะเราคิดว่าถ้ามันดีพอ มันก็ต้องถึงคนฟังด้วย

Tatsu – ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าคนจะฟัง Instrumental rock มากหรือน้อย แต่ทุกครั้งที่เราขึ้นเล่น เราได้รับการสนับสนุนจากทุกคนเป็นอย่างดี เราสนุกและมีความสุขกับการเล่นดนตรี ก็เลยไม่ได้มองว่าเป็นการท้าทาย

Phil – อันที่จริง คนที่ฟัง Instrumental rock ในซีนบ้านเราก็มีไม่น้อย เพราะก่อนหน้าพวกเราก็มีวงแนว shoegaze / post-rock อยู่ประมาณหนึ่ง พวกเราแค่แตกแขนงออกมาจากพวกเขาอีกทีจนได้ซาวด์ที่อาจแตกต่างออกไป และสามารถดึงดูดผู้ฟังได้หลาย ๆ กลุ่มจึงไม่รู้สึกว่ามันท้าทาย

Ginn – เราไม่เคยสนใจเลยว่าคนฟังแนวนี้เยอะหรือน้อย คนฟังน้อยจะเป็นเหตุผลที่เราไม่เล่นแนวนี้ได้หรอ ไม่ เราเล่นอะไรที่เราอยากเล่น แค่โดยบังเอิญที่แนวที่เราชอบเล่นมันไม่นิยมฟังเท่านั้น

ซึ่งถ้าเราเคยท้าทายก็ท้าทายเพื่อเล่นสดให้ดีที่สุดในรอบที่ผ่านมา และ แต่งเพลงให้ออกมาอย่างเฉพาะตัว แต่อย่าเข้าใจผิดว่าเรารู้สึกขอบคุณมาก ๆ กับแฟนเพลงเรา เราเอาแต่ใจที่เล่นอะไรที่เราอยากเล่น แต่ทุกคนสนับสนุนเราเป็นเรื่องประทับใจมาก ๆ สำหรับเราครับ

: แล้วถึงตอนนี้มองตัวเองเป็นดนตรีแนวไหน เพราะอะไร ยังนิยามตัวเองว่าเป็น Instrumental rock อยู่หรือเปล่า

Reo – ไม่เลย ตอนแรกเริ่มมาจากเป็นเพื่อนกันลองเล่นด้วยกัน จะออกมาเป็นยังไงตอนนั้นยังไม่ได้คิดไว้เลย

Van – พวกเราอาจจะพูดว่า Instrumental Rock เป็นการบรรยายถึงเพลงที่เราทำไปแล้ว เพราะมันตรงตัวและเข้าใจง่ายสุด แต่เอาจริง ๆ เราก็ไม่เคยนิยามวงไว้แบบนั้น

Phil – ถ้าจำกัดความสั้น ๆ ก็คงเป็น instrumental rock แต่สมาชิกในวงเองก็มีรสนิยมในการฟังเพลงที่แตกต่างกันออกไปมาก แต่โชคดีที่พอมารวมตัวกันสามารถหาจุดสมดุลในแนวทางการแต่งเพลงได้

: กับวงที่ผ่านมากว่า 10 ปีได้แล้วอยากขอ 1 Track Recommended ในใจกับ aire แต่ละคน

Reo – ส่วนตัวชอบ Sanagito รู้สึกเพลงเป็นเพลงที่โครงสร้างดีและเล่นแล้วสนุกด้วย

Tatsu – ส่วนตัวผมเลือกเพลง Mizukiri

Van – Reo บังคับให้ผมพูดถึง Mizukiri คงเพราะเป็นเพลงที่ขึ้นด้วยเบส เพลงนี้เล่นสดสนุก เป็นเพลงที่เราได้การตอบรับจากคนดูดีตลอด ๆ ก็ชอบเล่นแน่นอน

ส่วนตัวผมมีความผูกพันเป็นพิเศษกับเพลงนี้ เพราะมันเกิดจากการแจมมั่ว ๆ ในห้องซ้อม เป็นการแต่งเพลงที่ผมชอบที่สุด คือเล่น ๆ แล้วมีอะไรที่ทุกคนโดน ทำให้ทุกคนเล่นอะไรออกมา ไม่ต้องคุยกันหรือวางแผนอะไร ผมรู้สึกมันทำให้เพลงมีความจริงใจ เป็นอะไรที่เกิดขึ้นของมันเองจริง ๆ

Phil – น่าจะเป็น Withering เพราะเข้าถึงคนฟังได้ง่ายสุด ถึงเพลงจะไม่ได้มีจังหวะซับซ้อนอะไรมากแต่ทำนองสามารถสื่อสารอารมณ์เพลงออกมาได้ง่าย

Ginn – เพลงต่อไป

: พูดถึงคอนเซ็ปต์ของ Indoor Picnic เล่าที่มาให้ฟังหน่อย

Reo – เพลงนี้เป็นเพลงสุดท้ายของเราจริง ๆ ไม่ว่าจะเพลงไหนเราก็คิดชื่อเพลงจากสิ่งที่รู้สึกหรือภาพที่มองเห็นตอนเล่นกัน ตอนจะตั้งชื่อเพลงก็ถามๆ หากันว่านึกไรบ้าง จำได้ว่า Tatsuo เป็นคนบอกว่าเหมือนไปปิคนิค ผมมองกลับกันว่าเหมือนทำอะไรบางอย่างในห้อง ก็เลยลองมาเติมคำหน้าว่า Indoor ผมว่ามันดูคัดแย้งดี

Van – จริง ๆ คอนเซ็ปต์ในตอนที่แต่งอาจจะอย่างหนึ่ง แต่สำหรับในตอนนี้ ส่วนที่น่าสนใจของเพลงนี้สำหรับผมคือการที่มันโดนแต่งในช่วงที่พวกเราได้ทำวงกันมาสักพักใหญ่ และเอาจริง ๆ ทุกคนเริ่มมีความเหนือยล้ามาก ๆ จากการซ้อม เล่น ทำทุกอย่างที่วงต้องทำ

เราปล่อยมันออกมาพร้อมเพลง Mizukiri แล้วอาจจะเล่นสดแค่สองครั้งก่อนที่เราจะหยุดเล่นมัน แล้วก็แยกย้ายกันไป เราเลยเหมือนมีความแขยงเพลงนี้ที่ถูกผูกไว้กับช่วงเวลานั้น แต่พอกลับมาฟังหลังจากได้พักวงไปยาว ๆ มันกลับไม่มีความรู้สึกนั้นแล้ว มันเลยเหมือนเป็นตัวอย่างว่าสภาพของวงก็มีผลกับความรู้สึกต่อเพลงยังไง

: เห็นมีได้ไปเล่นที่ญี่ปุ่นด้วย คิดว่ามันแตกต่างกับการโชว์ที่บ้านเราไหมในแง่ของบรรยากาศและวัฒนธรรมของคนฟัง

Reo – ต่างกันมาก เกินที่จะบรรยายในพื้นที่นี้ เวที เครื่องเสียง คนดู สถานที่ ต้องยอมรับว่าทุกอย่างที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ญี่ปุ่นมันอยู่อีกระดับหนึ่ง ส่วนตัวก็คิดว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้วงได้ยกระดับไปสเตปหนึ่ง

Tatsu – ต่างกันในเรื่องบรรยากาศสถานที่ แต่ที่เหมือนกันคือคนที่เข้ามาดูพวกเรา พวกเค้าตั้งใจมาดูและสนุกไปกับเรา ผมคิดแบบนั้นนะ

Van – ต่างครับ แต่เหมือนเป็นความต่างของยุค หรือเวลามากกว่าต่างในเชิงวัฒนธรรมหรืออะไร ซีนดนตรีนอกกระแส หรืออิสระ ของเขามันมีมานานและวิวัฒนาการไปไกล คนคุ้นชินกับการดูดนตรีสด ดูศิลปินลองอะไรใหม่ ๆ ไปในสถานที่ที่เอื้ออำนวยกับการเสพดนตรี

มันอาจจะสร้างความคาดหวังหรือต้องการอะไรใหม่ ๆ ผมเชื่อว่าในเวลาอันใกล้ การดูดนตรีที่ไทยก็จะไปถึงจุดนั้น เพราะซีนเราเติบโตไปในทุกวัน ๆ การไปญี่ปุ่นเลยเหมือนการไปแอบดูอนาคตของซีนไทยในระดับหนึ่ง

Phil – แน่นอนว่าวัฒนธรรมการเสพดนตรีของซีนญี่ปุ่นแตกต่างจากบ้านเรามาก ที่คนมักลือ ๆ กันว่าผู้ชมคอนเสิร์ตที่ญี่ปุ่นจะไม่ค่อยออกอาการอินกับดนตรีหรือว่าเต้นตามนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นจริงซึ่งก็ทำให้รู้สึกกดดันเวลาแสดงบนเวที เราต้องแสดงออกมาดี ๆ เพื่อให้พวกเขาประทับใจและยอมรับเพลงของเราให้ได้

: ในมุมมองของ aire คิดว่าการสร้างวัฒนธรรม Livehouse จะช่วยศิลปินและเสริมซีนดนตรีในบ้านเรายังไง

Reo – ถึงทุกวันนี้เราจะเน้นฟังเพลงบน Online ผ่านพวก Streaming service ต่างๆ สถานที่ให้ฟังดนตรีสดยังไงก็ต้องเป็นที่ต้องการของคน และ Livehouse จะเป็นที่ๆ ฟังดนตรีสดที่ดีที่สุดแน่นอนครับ คนฟังจะสนุกกับดนตรีมากแค่ไหนก็สู้กับมาฟังศิลปินเล่นสดๆ ที่ Livehouse ไม่ได้แน่นอน

Van – ถ้าขยายความหมายวัฒนธรรม Livehouse ออกเป็นวัฒนธรรมการเสพและสนับสนุนการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นดนตรี หรืออะไร ผมว่าก็จะเห็นได้ง่ายว่าการเสริมสร้างตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะไม่ได้จะแค่เสริมซีนดนตรี แต่คือการเสริมสร้างให้ทุกคนได้แสดงออก ค้นหาตัวเอง รับรู้ถึงคนอื่นได้มากขึ้น เป็นเรืองจำเป็นแน่นอน

Ginn – สำหรับเรา การเล่นสดคือสำคัญที่สุดในกิจกรรมดนตรี แต่งเพลง ซ้อม อัดเสียง ทำทั้งหมดเพื่อเล่นสด นักดนตรีแต่ละคนต้องคิดคนละทางแน่นอน บางคนวางความสำคัญกับการแต่งเพลงก็มี แต่อย่างน้อยการสร้างวัฒนธรรม Livehouse จะช่วยเราให้มีที่เล่นสด แล้วพูดถึงซีนดนตรี ซีนดนตรีเกิดขึ้นจากไหนคือจาก Livehouse เวลาเรามีโอกาสเล่นสดก็ได้เจอวงเพื่อน ๆ และคนฟัง นี่เป็นซีนดนตรีจุดเริ่ม

ถ้าเล่นต่อเนื่องซีนนั้นก็จะขยายเติบโตมากขึ้น นอกจากรู้จักกับรุ่นเดียวกัน ยังต่อเชื่อมกันกับรุ่นพี่และรุ่นน้องได้ ทำให้ซีนดนตรีแข็งแรงมากขึ้น Livehouse เป็นสถานที่คนฟังและคนเล่นได้เจอกัน แล้วซีนดนตรีเกิดขึ้นจากจุดนั้น ซึ่งเราว่าถ้าไม่มี Livehouse ก็จะไม่มีซีนดนตรีอยู่ดี

: สุดท้ายทักทายและชวนทุกคนมาดู aire

Reo – ขอบคุณที่ยังมีคนจำเรากันได้และสนใจในงานนี้ อยากให้คนที่ได้มาร่วมมาสนุกกันในวันงานครับ

Tatsu – งานนี้เป็นโอกาศที่ดีที่พวกเราได้มารวมตัวกันอีกครั้ง อยากให้เพื่อน ๆ ทุกคนมาดู พวกเราเต็มที่มาก สนุกมันแน่นอน

Van – พวกเราพยายามจริง ๆ ที่จะทำให้โชว์ครั้งนี้เป็นอะไรที่พิเศษ แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลาและอีกหลายอย่าง เราอาจจะไม่ได้ทำได้สุดที่เราตั้งใจกันเอาไว้ แต่อย่างไรแล้ว พวกเราเป็นวงที่เน้นเล่นสดมาแต่แรก

เราพยายามที่จะเชื่อมต่อกับคนดูผ่านดนตรีที่เราเล่น Ginn ชอบพูดเสมอว่า ไม่ใช่แค่เราที่ทำโชว์ แต่คือทุกคน ครั้งนี้ก็คงจะเป็นอีกครั้งที่พวกเราพยายามเล่นให้ดีที่สุด เพื่อที่จะสร้างพื้นที่ให้ทุกคนได้เข้ามาร่วมกัน สร้างความพิเศษไปด้วยกัน

Ginn – ไม่มีอะไรพิเศษ เน้นเล่นให้ดีที่สุดในรอบที่ผ่านมาเหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่เราอยากมอบและแสดงความเคารพให้ทุกคน

Related Posts