ทำไม GEN Y ถึงกล้าจ่ายเงินให้ศิลปะมากกว่า GEN Z
เข้าเรื่อง เราเจองานศึกษา 2 ที่จาก New Park West Gallery Study และ Deloitte ที่ค้นพบว่าคนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) หรือ Gen Y กลายเป็นรุ่นที่ให้ความสำคัญและสนใจศิลปะมากที่สุด ทั้งในการซัพพอร์ตศิลปิน ซื้องาน และเผยแพร่งานศิลปะในพื้นที่ของตัวเอง
ถ้าเราดูจากสถิติที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คน Gen Y กว่า 65% เป็นคนรุ่นที่สนใจและซื้องานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะทั้งภาพวาด เครื่องปั้น ของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ ไวนิล โปสเตอร์ และอื่น ๆ มากที่สุด ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก รวมถึงกล้าใช้จ่ายที่จ่ายเพื่อทำกิจกรรม การพักผ่อน เข้าสตูดิโอ (ตามที่ตัวเองสนใจ) และดนตรีต่อให้แพงแค่ไหนถ้าสนใจก็สู้
แล้วกว่า 79% ของคน Gen Y ก็พอใจที่จะค้นหาและมีปฏิสัมพันธ์กับศิลปิน งานศิลปะในออนไลน์มากที่สุดด้วย เพราะมีความคิดว่าการเสพศิลปะและความพยายามสนับสุนนศิลปินแบบนี้ช่วยยกระดับประสบการณ์ จิตวิญญาณ เติมเต็มชีวิตของตัวเอง และได้แสดงตัวตน เอกลักษณ์ รสนิยมให้คนรอบตัวเห็นว่าเป็นคนศิลป์ยังไง
นอกจากนี้พฤติกรรมของคน Gen Y ที่กล้าเสพศิลปะราคาแพงขนาดนี้ก็อาจเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูตามทฤษฎีมาสเมลโล่ว (Marshmallow Theory) ของ Walter Mischel ด้วย ตรงที่การเลี้ยงดูของพ่อแม่รุ่นบูมเมอร์และ Gen X ที่เลี้ยง Gen Y ด้วยวิธีการให้อดทน ป้อนความคิดกับทุกเรื่องแบบอดเปรี้ยวไว้กินหวานเพื่อประสบความสำเร็จในอนาคต ทำให้เกิดความอัดอั้น ซึ่งเรื่องการใช้เงินก็เหมือนกันที่ให้อดออม อดทนกับการซื้อความชอบอย่างไม่ฟุ่มเฟือยก็เป็นหนึ่งในนั้น
สิ่งนี้ส่งผลให้พอคนรุ่น Gen Y โตขึ้นจนพอมีรายได้เป็นของตัวเองก็อยากปลดปล่อย เต็มที่กับรสนิยมของตัวเองโดยที่ไม่กังวลที่จะใช้จ่าย ส่วนตัวเราเองก็จะเจอความคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนตัวของคนในรุ่น Gen Y บ่อยมาก ๆ ที่เพิ่งได้ใช้เงินซื้องานศิลปะหรือของเก็บสะสมบางชิ้นที่ไม่มีโอกาสได้ในวัยเด็กก็เลยมาเติมเต็มตัวเองในตอนนี้แทน
การเสพศิลปะต่อให้มีราคาแพงแค่ไหนแต่ถ้า Gen Y มองแล้วว่าจ่ายไหวก็พร้อมที่จะซื้อเพื่อตอบแทนเป็นรางวัลชีวิตให้กับตัวเอง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าได้รับอรรสรถที่ได้ใช้ศิลปะให้พลังกับตัวเองและแสดงสิ่งนี้ให้คนอื่นเห็น
ตรงกันข้ามกับ Gen Z ที่จะสนใจเสพศิลป์รูปแบบไหนก็ได้ ราคาถูกก็ได้ โดยสนใจมองต้นแบบ (Influencer) เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองมีแพชชั่นที่จะทำบางอย่างต่อไปมากกว่า การที่ Gen Z จะยอมจ่ายแพงเพื่อศิลปะก็จะต้องเห็นว่ามันเป็นประโยชน์กับตัวเองจริง ๆ ถึงจะยอมจ่ายนั่นเอง
พอดูแล้วเพื่อน ๆ Gen Y และ Gen Z คิดยังไงแชร์กันได้ ถึงนี่จะเป็นงานศึกษาแต่มันก็ยังเป็นภาพรวมอยู่ สำหรับเราถ้ามองรสนิยมส่วนตัวของแต่ละคนแบบไม่นึกถึงว่าเป็น Gen ไหนก็อาจจะมีเพื่อนหลายที่คนกล้าจ่ายหรือเลือกประหยัดกับงานศิลปะแตกต่างไปจากนี้ก็ได้