ฉันไม่ได้อยากประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ แค่ใช้ชีวิตแต่ละวันให้ผ่านไปได้ก็ดีมากแล้ว
หลังเรียนจบหลายคนคาดหวังว่ามันจะเป็นช่วงเวลาของโอกาสที่ตัวเองได้มีความสุขมากที่สุด อิสระ และใช้ชีวิตในแบบที่อยากใช้ได้อย่างเต็มที่มากกับงานและฐานะการเงินที่มั่นคงระดับหนึ่ง แต่พอถึงตอนนี้กลายเป็นว่าตัวเองกำลังเจอกับความเครียด กังวล เหนื่อย กดดันตัวเองจนหมดไฟ ไม่มีแรงจูงใจและเป้าหมายกับอาชีพที่ทำถึงขั้นรู้สึกว่าแค่ใช้ชีวิตแต่ละวันให้รอดก็ดีแค่ไหน
นี่เป็นปรากฏการณ์วิกฤต Quarter-Life Crisis ที่เกิดขึ้นได้กับเราในช่วงอายุก่อน 30 ปี จากงานศึกษา LinkedIn พบว่ากว่า 75% ของคนอายุช่วง 25-33 ปีที่กำลังก้าวไปเป็นวัยผู้ใหญ่ยอมรับว่าตัวอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ต้องประสบความสำเร็จในชีวิตให้ได้ทั้งเรื่องงาน การเงิน และความสัมพันธ์ และมีอัตราความกังวลที่ตัวเองจะหาเงินได้ไม่พอใช้สูงถึง 2 ใน 5
นอกจากนี้ยังรู้สึกกดดันตัวเองมากขึ้นไปอีกที่จะต้องทำตัวเองให้พร้อมแต่งงานและมีลูกในอายุ 30 ปีพอดี ส่วนที่เหลือก็กดดันตัวเองกับเรื่องงานที่อยากโตมากขึ้นและคิดเรื่องการย้ายที่อยู่หรือย้ายประเทศ ซึ่งวิกฤตนี้อยู่กับแต่ละคนเฉลี่ยแล้วประมาณ 2 ปี ส่งผลกระทบแตกต่างกันแต่ที่แย่ที่สุดคือนำไปสู่ปัญหาในการตัดสินใจ ภาวะหมดหวังและเป็นซึมเศร้า
โดยวิกฤตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นได้แค่เฉพาะจากความคาดหวังของตัวเองเท่านั้น ผลการศึกษายังชี้อีกว่ามีความเกี่ยวข้องกับแรงกดดันทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นผลจากการเลี้ยงดู ความคาดหวังของผู้ปกครอง Boomers และ Gen X ที่ได้รับแรงกดมาอีกทีเกี่ยวกับการประสบความสำเร็จในชีวิต รวมไปถึงภาพความสำเร็จจากสื่อโซเชียลมีเดีย และอาจสะท้อนถึงเรื่องการสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีจากรัฐสวัสดิการด้วย
ทีนี้พอเราไล่ระดับของ Quarter-Life Crisis ซึ่งก็มี 4 ระยะที่เราต้องทำความเข้าใจ ว่าหากเราผ่านการผูกติดกับแผนที่จะต้องประสบความสำเร็จกับงาน รวมถึงความสัมพันธ์ โดยที่เรากดดันตัวเองไป (ซึ่งเป็นระยะแรก) เราจะเริ่มรู้สึกว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลง (ระยะที่ 2) และสร้างชีวิตใหม่ในแบบที่เราต้องการ (ระยะที่ 3) จนเรารู้สึกเชื่อมั่นใจและสัญญากับตัวเองที่จะทำในสิ่งที่เรารู้สึกภูมิใจกับมัน (สุดท้าย) และพร้อมเป็นผู้ใหญ่ต่อไปได้
ก่อนที่เราจะพร้อมเป็นผู้ใหญ่ เราจะเริ่มใจดีกับตัวเองยังไงเพื่อให้ผ่านวิกฤตระยะแรกไปได้
1. ให้เวลากับตัวเองที่จะได้ค่อย ๆ พัก โดยไม่ตำหนิตัวเองเพื่อลดความกดดันในตอนที่เรากำลังเจอกับภาวะวิกฤต
2. ไม่เปรียบเทียบตัวเองกับใคร ทำความเข้าใจว่าแต่ละคนมีระยะเวลาประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน ค่อย ๆ ไต่ตามแผนที่เราวางไว้ โดยเราไม่จำเป็นเลยที่จะต้องประสบความสำเร็จ หรือมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงหรือมั่งคั่งแบบคนอื่นหรือตามความคาดหวังของใครในรวดเดียว
3. ตั้งเป้าหมายที่ยืดหยุ่นได้ด้วยการวางแผนเป็นสเต็ป คิดถึงความเสี่ยงในแต่ละแผน และวิธีรับมือหรือจัดการหากมีโอกาสไม่เป็นตามแผนที่วางไว้ ถ้าแผนไหนเฟลไม่เป็นไรและถ้าในแผนเราเห็นแล้วว่าเราต้องการความช่วยเหลือ ให้กล้าที่จะขอคำแนะนำเพื่อเรียนรู้จากคนในแวดวง
4. ให้สมดุลกับตัวเองและสิ่งที่ลงมือทำ เราสามารถเต็มที่ทำการทำงานและหาเงินเพื่อไปให้ถึงเป้าได้ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพักผ่อนก็สำคัญ อย่าให้ตัวเองทำงานหนักจนล้มป่วย
5. ให้รางวัลและคำชมกับตัวเอง เพื่อเสริมกำลังให้เราพัฒนาตัวเองด้วยความกล้าที่จะเปิดใจรับคำชมและข้อปรับปรุงกับตัวเองด้วยนะ
6. หาแรงซัพพอร์ตเชิงบวก ด้วยการค้นหาแรงบันดาลใจอาจจะเป็นแรงบันดาลใจที่มาจากการทำสิ่งเล็ก ๆ จากการอ่านหนังสือสักเล่ม งานอดิเรกใหม่หรือใครสักคนที่กำลังมีแพชชั่นทำอะไรอยู่ โดยไม่จำเป็นว่าคนนั้นต้องเป็นคนที่ประสบความสำเร็จไปแล้ว
การให้เวลากับตัวเอง ทำความเข้าใจ ตั้งเป้าหมายที่ยืดหยุ่น และหาแรงซัพพอร์ต ทั้งหมดนี้เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งของการรับมือกับ Quarter-Life Crisis จริง ๆ แต่ละคนอาจจะมีวิธีและการสร้างแรงบันดาลใจตามแบบตัวเองแตกต่างจากนี้ แชร์กันได้นะ จะได้เป็นอีกกำลังให้เราผ่านวิกฤตไปได้ด้วยกัน