Punk Health เทรนด์โกงร่างกายของคนรักงาน ได้ผลจริงหรือแค่ซ้ำเติม ในขณะที่โลกกำลังสร้างวัฒนธรรม Work Life Balance
ปรากฎการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นอย่างหนักที่จีน วัยรุ่นและวัยทำงานช่วงอายุ 20-30 ปี สร้างวัฒนธรรมที่ทำให้ตัวเองโปรดักทีฟอยู่ตลอด กดดันตัวเองเพื่อให้ได้ประสบความสำเร็จ โหมกันทำงานหนักมาก พักผ่อนน้อย และหาตัวช่วยเป็นสูตรโกงบำรุงร่างกาย
ทำให้ตลาดมีการทำเครื่องมือ อาหารเสริม เทคโนโลยีออกมาแบบจัดหนักจัดเต็ม บริษัทใหญ่ ๆ ในประเทศและนอกประเทศ พากันผลิตสิ่งที่จะทดแทนการพักผ่อนได้ อุดทุกช่องที่จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย รวมถึงลงทุนกับการสร้างบรรยากาศการนอนที่มีคุณภาพ หมอน เตียง ฟูก ผ้าห่ม ที่ปิดตา สกินแคร์ ยันจนเครื่องใช้ในบ้านที่จะอำนวยความสะดวกได้มากที่สุด
มีรายงานเพิ่มเติมที่สำรวจโดย JD Health Data Center ด้วยว่าหนุ่มสาวจีนที่อายุมากกว่า 26 ปีขึ้นไป ไม่ได้มองพฤติกรรมนี้ว่าเป็นแค่เทรนด์กระแสรักสุขภาพเท่านั้น แต่มองว่าสิ่งเหล่านี้คือการป้องกันตัวเองจากความเสื่อมถอยของร่างกายและปัญหาสุขภาพ
ทำให้อุตหสากรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในจีนเติบโตขึ้นกว่า 36% เพื่อรองรับความต้องการของวัยทำงาน โดยเน้นผลิตอาหารเสริมพวกแคลเซียม เหล็ก สังกะสี วิตามิน DHA โปรไบโอติก และน้ำมันตับปลาออกมา นอกจากนี้ก็มีพวกพืชสมุนไพรด้วยอย่าง โกจิเบอร์รี่ ก็ถูกนำไปอยู่ในเครื่อมดื่มทั้งชาและกาแฟ รวมถึงเจลาตินที่คิดว่าช่วยบำรุงเลือด
นอกจากนี้แบรนด์สุขภาพต่าง ๆ ก็เริ่มมองเป้าหมายในการผลิตว่าต้องให้ตอบโจทย์ทุกทางที่จะทำให้คนที่เป็นลูกค้ามีทางลัดที่สั้นและง่ายที่สุดที่จะบำรุงสุขภาพ ใช้ชีวิต ตัวอย่างเช่น กราโนล่าแท่งที่ให้เป็นมื้ออาหารก็ทำรายได้ถล่มทลายหลังเปิดตัวได้แค่ครึ่งปีเท่านั้น
มากไปกว่านั้น ถึงขนาดกับที่นำส่วนผสมของอาหารเสริม วิตามินต่าง ๆ ไปใส่ลงไปในเครื่องดื่มชูกำลัง หรือลูกอมผสมเมลาโทนินเพื่อช่วยหลับสบาย และแม้แต่เบียร์เองก็มีด้วย
พอบวกกับรายงานของ Qiva Global บริษัทที่ให้คำปรึกษาแบรนด์ต่างประเทศเพื่อขยายธุรกิจในจีน เผยผลว่ากว่า 60% ของหนุ่มสาวในจีนตอนนี้ ยอมรับการนอนดึก พักผ่อนน้อย เพื่อที่จะได้ทำงานได้มากขึ้น และกว่า 65% ก็กิน เที่ยว ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่หนัก ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นไปพร้อมกับการกินอาหารเสริมหนัก ๆ ด้วย
ยิ่งเป็นภาพที่ชัดมาก ๆ ว่าคนในเทรนด์พังก์เฮลธ์ใช้ทุกหนทางจริง ๆ เพื่อที่ทดแทนกับร่างกายที่ใช้งานหนักลงไป แต่การบำรุงร่างกายด้วยอาหารเสริมและเครื่องมือพวกนี้จะได้ผลจริงในแง่ของการทดแทนการพักผ่อนแค่ไหน ทำให้เราตั้งคำถามว่ามันเวิร์คจริง ๆ หรอ ยังไงเราจะรอทิศทางของเทรนด์นี้ต่อไปเหมือนกัน