เบื้องหลัง แอน (Face of Anne)ท้าทายแค่ไหนคุยกับ ปอม ราสิเกติ์ สุขกาล ในฐานะผู้กำกับเบื้องหลัง

เบื้องหลัง แอน (Face of Anne) ท้าทายแค่ไหนคุยกับ ปอม ราสิเกติ์ สุขกาล ในฐานะผู้กำกับร่วมกับคงเดช จาตุรันต์รัศมีที่ตีโจทย์ Psycho Thriller ให้ตัวละคร ‘แอน’ ถ่ายทอดอารมณ์กับคนดูแบบ High concept รวมถึงมองปรากฎการณ์วงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย
________________________________________
ถ้าไม่อยากพลาดคอนเทนต์ดี ๆ แบบนี้จากลิโด้ กดไลก์ กดติดตาม Lido Connect👆🏻 เป็นรายการโปรดไว้เลยที่มุมขวาบนของหน้าเพจ กดเลือก การตั้งค่าการติดตาม รายการโปรด หรือ Favourites ทุกเรื่องที่เราตั้งใจหยิบมาเล่า อยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนและหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงโลกได้

: ถ้าต้องอธิบายคำว่า “ผู้กำกับศิลป์” ให้คนทั่วไปฟังพี่ปอมจะอธิบายว่าอะไร

ปอม – มีสองส่วนที่ซ้อนทับและน่าสนใจในตำแหน่งนี้ครับ ส่วนแรกคือ Production Designer หรือ”ผู้ออกแบบงานสร้าง” และอีกส่วนคือ Art Director หรือ “ผู้กำกับศิลป์” ในปัจจุบัน กระบวนการสร้างภาพยนตร์นั้นมีความเป็นอุตสาหกรรมและซับซ้อนขึ้น

ในความเห็นเราตำแหน่ง Production Designer นั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบในกระบวนการออกแบบโลกในภาพยนตร์ ซึ่งมันกินความกว้างไกลไปถึงโลกที่ “บทภาพยนตร์” อาศัยอยู่ หน้าที่ของ PD คือการออกแบบโลกนั้นเพื่อให้ตัวบทและตัวภาพยนตร์แสดงศักยภาพของมันอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญและเป็นการทำงานร่วมกันควบคู่ไปกับ ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้กำกับภาพ

ขณะเดียวกันก็มีภาพยนตร์อีกมากมายที่ไม่ได้มีตำแหน่งนี้ แต่มีตำแหน่งที่เรียกว่า Art Director หรือ “ผู้กำกับศิลป์” ซึ่งในบริบทตามประวัติศาสตร์ อาจจะมีความคล้ายคลึงกัน ในขณะที่ปัจจุบันมีความหมายในเชิงช่างศิลป์มากขึ้น และมีส่วนสำคัญในการ “กำกับ” ศิลป์ ให้เป็นไปตาม direction ที่ PD, ผู้กำกับภาพยนตร์ และผู้กำกับภาพ เห็น

: เบื้องหลังของคำว่า “หนังเรื่องนี้ภาพสวย” ในมุมมองพี่ปอม มันต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

ปอม – ในมุมมองเรา คำว่าภาพสวย มันมีความหมายที่ลึกซึ้งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความที่ Medium ที่เราทำคือหนังหรือภาพยนตร์ แน่นอนว่าสิ่งที่คนทั่วไปเห็น ก็คือตากล้องที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์หรือความรู้สึก ณ ห้วงขณะนั้น ๆ ในภาพยนตร์ออกมาให้เราได้รู้สึกไปด้วย

ขณะเดียวกัน ลึกไปกว่านั้น มันคือการทำงานร่วมกันของทีมงานอีกมากมายที่อยู่เบื้องหลัง แน่นอนว่ามีหนังมากมายที่มีแค่นักแสดง ผู้กำกับ และตากล้อง และหลาย ๆ เรื่องก็ได้รับการยกย่องให้เป็นมาสเตอร์ เราอาจจะไม่ได้ต้องการความสวย ตามแบบฉบับของความสวย

แต่ความงามของมันคือการที่ใครสักคนหรือทีมงานทั้งทีมสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก หรือเล่าเรื่องได้ด้วยภาพ ไม่ว่า ณ ตรงนั้น ณ เสี้ยวขณะหนึ่งของการถ่ายทำ จะเป็นหนังบ้านที่เล่าด้วยตัวคนเดียว หรือหนังสตูดิโอขนาดยักษ์ที่มีทีมงานมากมายมหาศาลก็ตาม

: มีกระบวนการในงานกำกับศิลป์ข้อไหนที่คิดว่าเราจะต้องใส่ใจรายละเอียดกับมันมากที่สุด

ปอม – สิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญมาตลอดคือการเล่าเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในตัวหนังสือออกมาให้ละเอียดและโน้มน้าวให้มากที่สุด การสร้างโลกในหนัง การสื่อสารด้วยภาพ ด้วยบรรยากาศ

: จากการที่เคยร่วมงานกับพี่คงเดชมาแล้ว รู้สึกว่า “แอน” มันพิเศษกว่าเรื่องอื่นยังไงบ้างในมุมมองพี่ปอม

ปอม – แอนเป็นโปรเจกต์ที่ทะเยอทะยานมากครับ (หัวเราะ) เอาจริง ๆ การเกิดขึ้นของโปรเจกต์ก็ค่อนข้างจะต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ของพี่คงเดชอยู่แล้ว และแน่นอนว่าด้วยความเป็นหนัง genre แบบ high concept มันก็ต้องการการ explore อะไรใหม่ๆ ที่จะนำพามันไปถึงจุดที่เรารู้สึกว่ามันใหม่พอที่พวกเราจะแฮปปี้ นายทุนแฮปปี้ คนดูแฮปปี้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก

: เราต้องทำการบ้านหนักแค่ไหนในฐานะผู้กำกับร่วม

ปอม – เราทำการบ้านหนักมาก และพี่ทอง (โปรดิวเซอร์) และพี่คงเดชก็ให้เกียรติเรามากในฐานะผู้กำกับคนหนึ่ง เขาให้เรา Explore บทได้เต็มที่และเล่าในแบบที่เราอยากจะเล่า แน่นอนว่าในการกำกับร่วมก็มีสิ่งที่ต้องแชร์กัน

แต่การร่วมงานกันมานานก็ทำให้เรื่องนี้ไม่เป็นเรื่องใหญ่เลย การมากำกับร่วม ทำให้เรามีเครื่องมือเพิ่มขึ้นมากในการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบช็อตร่วมกับตากล้อง การกำกับการแสดง รวมไปถึงการออกแบบเสียง เรียกว่าเป็นเครื่องมือที่ใหม่สำหรับเรามากในฐานะผู้กำกับ และเราก็สนุกมากๆ กับการเรียนรู้และทดลองอะไรใหม่ๆ

: ในหนังเรื่องนี้พี่ปอมต้องควบตำแหน่งอะไรอีกบ้าง

ปอม – ไม่มีครับ กำกับภาพยนตร์อย่างเดียวเลย

: ทำไมถึงตั้งใจให้หนังมันไปทาง Psycho Thriller ซึ่งไม่ค่อยเห็นในบ้านเรา แอบกังวลบ้างไหมว่าคนไทยจะไม่ชอบ

ปอม – จริง ๆ ในบทดั้งเดิมหนังมีความเป็น Action Thriller มาก ๆ ซึ่งถึงแม้เราจะเคยทำงานประเภทนี้มาบ้าง แต่ต้องยอมรับว่ามันไม่ใช่ทางที่เราถนัด (หัวเราะ) สิ่งที่เราถนัดคือ เราชอบการคิด เราชอบการสำรวจไอเดีย และประเด็นต่าง ๆ แล้วถ่ายทอดมันออกมาเป็น Visual มากกว่าที่จะทำมันในแง่แอ็คชั่น

ซึ่งพอเป็น Psycho Thriller มันเปิดโอกาสให้เราได้ Explore ได้มากกว่า เรารู้สึกว่าในความเป็น genre นี้ มันสามารถสะท้อนความรู้สึกร่วมบางอย่างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล ความกลัว ความเคลือบแคลงสงสัย

ซึ่งมันแตกต่างกันไปในแต่ละที่ทั่วโลก เช่นเดียวกับที่แอนสะท้อนภาวะบางอย่างในสังคมไทยด้วย และจะว่าไปเราไม่เคยกังวลกับคนดูเลย ไม่ใช่เพราะเราไม่แคร์คนดู กลับกัน เราคาดหวังกับคนดูสูงมากในแง่ที่ว่า เราเชื่อมาก ๆ ว่ามีคนที่อยากดูหนังไทยที่หลากหลาย มีคนที่รอคอยหนังแบบนี้มานาน มันเลยยิ่งเป็นแรงผลักให้เราอยากทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

: อยากรู้ว่าฝั่งกำกับศิลป์ในหนังเรื่องนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากไหนบ้าง

ปอม – อันนี้อาจจะต้องไปสัมภาษณ์ทีมอาร์ตครับว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากไหนบ้าง แต่สำหรับเราในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่ง เราประกอบสร้างแรงบันดาลใจเยอะมากจากคนรอบตัว

ความรู้สึกร่วมบางอย่างในสังคมที่ส่งผลต่อความรู้สึกของเรา พลังงานจากคนรุ่นใหม่ รวมไปจนถึงงานของผู้กำกับหลายๆ คนหรือศิลปินที่เราชื่นชอบ งานของ Hito Steyerl ส่งผลกับความคิดและการทดลองหลายๆ อย่างใน Faces of Anne ด้วย รวมไปถึงงาน Giallo films หลายเรื่อง

: ประเด็นของหนังเองกำลังตั้งคำถามกับสังคมอันบิดเบี้ยวของวัยรุ่นรึเปล่า ทั้งสองคนคาดหวังคำตอบนี้จากใครมากกว่ากัน วัยรุ่น สังคม หรือรัฐ?

ปอม – เอาจริง ๆ อย่างซื่อสัตย์ เราสองคนคุยกันเรื่องพวกนี้น้อยมากเลย เพราะสิ่งที่เราสองคนทำคือพัฒนาจากบท และพี่คงเดชก็ให้เกียรติเราในแง่นี้มาก เพราะเขาก็ปล่อยให้เรา Explore บทในวิธีของเราอย่างเต็มที่

ดังนั้นเราอาจจะตอบในเฉพาะส่วนของเราเองได้คือ เราไม่ได้คาดหวังคำตอบหรือตั้งคำถามกับอะไรหรือใคร แต่เราแชร์ไอเดียหรือมุมมองบางอย่างต่อประเด็นที่มีในบท ด้วยการสำรวจและผลักดันมันไปสุดทาง ภายใต้ข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง ประเด็นตั้งต้นที่เราสนใจและรู้สึกว่ามันเป็น Vibe ร่วมบางอย่างคือเรื่อง Identity และการเอาตัวรอดจากสภาพแวดล้อมที่มันไม่เอื้อต่อการมีชีวิต

ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างสภาวะภายในและสภาวะทางสังคม รวมไปถึงการเมืองและอำนาจรัฐ และจะว่าไป ส่วนตัวเรามองว่าหนังให้ความหวังกับผู้ชมด้วยซ้ำ มันอาจจะเป็นความหวังที่ผ่านความทุกข์ระทม และไม่ว่าเราจะต้องประกอบสร้างตัวตนขึ้นมาอีกกี่ครั้ง มันก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและการเรียนรู้ทุกความดีร้ายภายในตัวเรา

: กว่าจะกลายมาเป็น ‘แอน’ ที่ทุกคนได้ดูวันนี้ ดราฟก่อนหน้ามีอะไรที่ต้องตัดทิ้งหรือเสียดายที่ไม่ได้อยู่ในหนังไหม

ปอม – (หัวเราะ) เพียบเลยครับ มีพาร์ทสัมภาษณ์คนรอบ ๆ ตัวแอน มีพาร์ทจบอีกแบบหนึ่งตามบทที่ถ่ายไว้ด้วยเช่นกัน รวมถึงพาร์ทเปิดเรื่องก็มีการตัดทิ้ง สิ่งที่เสียดายที่สุดคือน้องนักแสดงคนหนึ่ง คือน้องเจ้าหญิง น้องมีเสน่ห์และเล่นได้ดีมาก แต่สุดท้ายต้องตัดใจเพราะด้วยโครงสร้างบางอย่างในการเล่าเรื่องมีการเปลี่ยนแปลงครับ

: อีกสิ่งที่น่าสนใจในหนังเรื่องนี้ คือรวมนักแสดงรุ่นใหม่ไว้เยอะมาก มันท้าทายทีมงานหรือผู้กำกับทั้งสองคนยังไงบ้าง

ปอม – ท้าทายมาก ในเชิงการจัดการ การที่จะทำให้ทุกคนมาร่วมแสดงในหนังหนึ่งเรื่องนี่แทบจะถือเป็น Once in a lifetime ได้เลย ต้องขอบคุณโปรดิวเซอร์ ทีมแคส และทีมผู้ช่วยที่สามารถจัดการความยากเย็นทั้งหมดและทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง

ในเชิงครีเอทีฟ การที่จะทำให้ทุกคนมาเล่นเป็นตัวละครคนเดียว มันต้องการการเวิร์คช็อปที่เข้มข้นมากๆ และครูร่ม แอคติ้งโค้ชก็ช่วยพวกเราเยอะมากในการทำงานด้านเวิร์คช็อป ซึ่งเราใช้เวลาถึง 3 เดือนในการประกอบสร้างแอนขึ้นมาจากนักแสดงแต่ละคนเพื่อให้ทุกคนมีลมหายใจเดียวกัน

: โลเคชั่นก็เป็นสิ่งที่หลายคนพูดกัน อย่างเซ็ตติ้งหลักที่เหมือนโรงแรมในเรื่องคือหาเจอได้ยังไง มีเกร็ดอะไรสนุก ๆ เกี่ยวกับโลเคชั่นนี้หรือตอนถ่ายทำไหม

ปอม – บูม ภควัฒน์ แตงหอม เป็นคนทำโลเคชั่นให้กับแอน รวมถึงช่วงเริ่มต้นโปรเจคที่เขาออกไปสเกาท์โลเคชั่นที่เป็นแรงบันดาลใจให้พี่เดชนำไปพัฒนาบทต่อด้วย วิธีที่บูมทำงาน มีความพิเศษกว่าโลเคชั่นคนอื่น ๆ ที่เราเคยเจอ

จะนับว่า บูมเป็น Filmmaker คนหนึ่งที่ถนัดในด้านการหาโลเคชั่นก็ว่าได้ เพราะเขามีวิธีคิดและไอเดียในการมองหนังเป็นของตัวเองเช่นกัน อย่างโลเคชั่นโรงแรมที่เป็นโลหลักของเรื่อง พวกเรามองหากันนานมาก และบูมก็เอาโรงแรมมาให้เลือกเยอะมาก แต่ละที่มันก็มีข้อจำกัด มีเสน่ห์และฟังชั่นต่างๆ ที่ตอบสนองต่อบทต่างๆ กันไป

และวิธีที่จะทรีตโรงแรมแต่ละอันสามารถที่จะกำหนดไดเรคชั่นของหนังได้เลย เราเลือกกันนานมากและก็ยังไม่ได้สักที จนท้ายที่สุด บูมก็หาโลหลักที่ใช้ในเรื่องมาได้ และทุกอย่างตอบความรู้สึกภายในเราหมดเลย ไม่ว่าจะโถงทางเดินหรือบันไดวนสามเหลี่ยมที่เห็นในหนัง

: หลังจากปิดกอง พี่ปอม พี่คงเดช และทีมมีความคาดหวังยังไงกับหนังเรื่องนี้บ้าง คิดว่าหนังมันจะไปไกลแค่ไหน

ปอม – ส่วนตัวเราเอง เราอยากให้ความหวังกับผู้คน ไม่ว่ากับทั้งคนดูหรือคนทำหนังด้วยกัน เราอยากทำอะไรใหม่ ๆ และออกนอกกรอบจำกัดของสิ่งที่เคยมีมา เรายังคงมีความเชื่อในภาพยนตร์ และอยากเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ในอุตสาหกรรมนี้ร่วมกันหาหนทางความเป็นไปได้ต่าง ๆ เพื่อจะทำให้มันดีขึ้น

: เรามีผู้กำกับหน้าใหม่ทุกปี และมีหนังสั้นธีสิสดี ๆ เยอะมาก อะไรคือตัวฉุดรั้งวงการหนังไทยไม่ให้ไปได้ไกลกว่านี้

ปอม – เราคิดว่ามันเป็นปัญหาหลาย ๆ อย่างรวมกัน ต้องยอมรับว่าความเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศเรา ค่อนข้างรวมศูนย์ไปอยู่ที่ฝั่งปลายน้ำเยอะมาก แต่ฝั่งต้นน้ำนั้นกลับไม่มีนายทุนหรือโครงสร้างที่ดีพอที่จะฟูมฟักให้มันเติบโต

ทุกปีมีคนจบการศึกษาด้านฟิล์มเป็นร้อย ๆ แต่เราไม่มีแม้แต่โครงสร้างที่จะรองรับหรือฟูมฟักให้พวกเขาได้เข้ามาเรียนรู้และได้ค่าตอบแทนที่จะทำให้มีชีวิตต่อไปได้ในอุตสาหกรรมนี้

นอกไปจากนั้นโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้หรือกระบวนการคิดที่จะทำให้ได้พัฒนาเทคนิคหรือวิธีการมันก็ยังไม่มากพอ หรือแม้แต่การรวมกลุ่มกันเองให้เป็นสหภาพเพื่อจะเรียกร้องในสิทธิต่าง ๆ ของคนทำหนังก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

กฏหมายเกี่ยวกับการฉายภาพยนตร์และการเปิดโรงหนังก็ล้าหลังและไม่ค่อยเปิดช่องให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เรายังเชื่อว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยังโตได้อีกมาก ถ้าคนในอุตสาหกรรมร่วมใจกันมองปัญหาและช่วยกันแก้ ก่อนที่จะไปคาดหวังกับคนดู

: ในวันที่คนเข้าโรงหนังน้อยลงมาก พี่ปอมในฐานะคนทำหนังคิดยังไงกับปรากฎการณ์นี้บ้าง

ปอม – เราคุยกับคนหลายเจเนอเรชั่นมาก สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือหลายคนบอกเราว่า เขารู้ว่าประสบการณ์ในโรงภาพยนตร์นั้นมันพิเศษ แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เขาเลือกที่จะดูสตรีมมิ่งมากกว่า เรื่องหนึ่งที่เราสนใจ คือ ตอนไปต่างประเทศ

เรากลับรู้สึกว่าการเข้าโรงหนังเล็ก ๆ มันสบายใจและน่าดึงดูดมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเชิงบรรยากาศหรือความรู้สึกร่วม (แน่นอนว่าตอนเราเรียนเตรียมฯหรือจุฬาฯ เราก็เลือกลิโด้บ่อยกว่าสกาล่าหรือโรงหนังสยาม) เราไม่แน่ใจว่าความหลากหลายของปลายน้ำมันจะส่งผลกับบรรยากาศโดยรวมไหม อันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราในอุตสาหกรรมต้องช่วยกันคิดด้วยครับ

: คิดว่าหลังหมดโควิดโดยสมบูรณ์ วงการหนังไทยจะกลับมาคึกคักอีกครั้งได้ไหม

ปอม – อันนี้ตอบยากมาก เท่าที่ดูตอนนี้ที่โควิดเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว มันก็ยังไม่ดีขึ้นสักเท่าไหร่ เรารู้สึกว่าระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา มันเปลี่ยนอะไรบางอย่างไปเยอะมาก แล้วก็ไม่รู้ว่ามันจะพัฒนาไปทางไหนต่อ

แต่เรามีความเชื่อว่าวิวัฒนาการมนุษย์คือการร่วมมือกัน เพื่อให้เผ่าพันธุ์ได้ดำรงอยู่ต่อไป ดังนั้นถ้าภาพยนตร์ยังคงส่งผลต่อภายในจิตใจของมนุษย์ มันก็จะยังเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้เราสื่อสารและร่วมกันทำอะไรบางอย่างให้วงการหรืออุตสาหกรรมกลับมามีชีวิตชีวาได้

: ฝากถึงคนที่ยังไม่ได้ดูเรื่อง ‘แอน’

ปอม – สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่ามันจะคุ้มไหม จะดูไม่รู้เรื่องไหม อยากให้ลองเปิดใจดูครับ ในฐานะผู้กำกับคนหนึ่งเราภูมิใจกับแอนมาก แล้วก็เชื่อว่ามันจะสื่อสารความรู้สึกบางอย่างไปหาคุณได้ แค่ได้ดูนักแสดงแต่ละคนที่มาร่วมกันเล่นในหนังเรื่องนี้ก็น่าสนุกมากแล้ว มาดูกันว่าพวกเธอจะเล่นเป็นแอนในแบบไหน และแอนคนไหนจะสื่อสารกับคุณได้มากที่สุด

Related Posts